ประวัติอำเภอเวียงสา

เวียงป้อ (อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน) ตามตำนานที่ไม่มีประวัติที่ทางราชการจัดทำขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ได้มีคนรุ่นเก่าและอดีตข้าราชการรุ่นเก่าๆ เ่ล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานสำคัญทางโบราณวัตถุและปูชนียวัตถุ ซึ่งพอจะเป็นที่ยืนยันและเชื่อถือได้ กล่าวว่า อำเภอเวียงสา เดิมชื่อ “เวียงป้อ-เวียงพ้อ” คำว่า เวียงพ้อ หรือ “เวียงป้อ” นั้น คำว่า “เวียง” หมายถึง เมือง ส่วนคำว่า พ้อ หรือ “ป้อ” นั้น ความหมายทางภาษาเหนือ หมายถึง การรวมกันเข้าเป็นกลุ่มเพื่อเตรียมการทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

เวียงป้อ หรือ เวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน

ตามตำนานเล่าว่า “เมื่อครั้งแต่โบราณนั้น เมื่อก่อนนั้น เมืองป้อมีผู้คนไม่มากนัก ภูมิประเทศส่วนใหญ่ก็เป็นป่าละเมาะและป่าดงดิบ เป็นที่อยู่ของ
สัตว์ป่ามากมายหลายชนิด มีสัตว์ตัวใหญ่รูปร่างลักษณะคล้ายวัวกระทิง แต่สูงกว่าและดุร้ายมาก ชอบออกหากินในเวลากลางคืน อาหารของสัตว์
ประเภทนี้ก็คือ ซากศพของคนที่ถูกฝังไว้ บางครั้งก็ไล่ขวิดคนเดินทางกลางคืนตายและจะดูดเลือดกินเป็นอาหาร ชาวบ้านเรียกว่า “วัวโพง”
จึงเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้านเป็นอย่างมาก ไม่กล้าออกไปทำงานในเวลาพลบค่ำ จึงมีการตั้งเวรยามเฝ้าหมู่บ้าน โดยมีการก่อกองไฟรอบๆ
หมู่บ้าน แต่ก็ยังมีข่าวการทำร้ายชาวบ้านอยู่อย่างหนาหู ชาวบ้านจึงประชุมกันจัดทำรั้วไม้แน่นหนา แล้วให้ชาวบ้านมารวมกันอยู่เป็นกลุ่มในเวลากลางคืน เพื่อดูแลความปลอดภัยจากวัวโพง พอเวลาใกล้พลบค่ำ ยามจะเคาะกะหลก (เกราะไม้) ให้ชาวบ้านมาป้อกัน (รวมกัน) ในรั้วกำแพงไม้แก่น ณ ที่ราบบริเวณปากแม่น้ำสา ทำเช่นนี้อยู่หลายปี ต่อมาก็มีการตั้งชายฉกรรจ์เป็นกลุ่มไปไล่ล่าวัวโพง แต่ก็ไม่มีใครฆ่าวัวโพงได้เลย นานเข้าวัวโพงก็ไม่มาอาละวาดและเลือนรางไป แต่คำว่า “ไปป้อกันในกำแพงไม้แก่น” จึงกลายมาเป็นชื่อเมือง เรียกว่า “เมืองป้อ” นั่นเอง

เวียงป้อ(เวียงสา) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองน่าน ห่างจากเมืองน่าน 25 กิโลเมตร มีหลักฐานการตั้งบ้านเรือนมานานแล้ว จากการศึกษา
ในยุคหินและเครื่องมือหินต่างๆ เช่น หินตุ่น ขวานหิน มีดหิน ตลอดถึงเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องใช้ต่างๆ ก็ปรากฎว่ามีคนอาศัยอยู่บริเวณที่เป็น
ที่ตั้งเมืองป้อนี้แล้ว และปรากฎหลักฐานซากวัดร้างต่างๆ เช่น
 วัดบุญนะ สถานที่ตั้งตลาสดเทศบาลเวียงสา
 วัดต๋าโล่ง อยู่ห่างจากวัดผาเวียงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 4 กิโลเมตร
 วัดมิ่งเมือง สถานที่ตั้งสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเวียงสา
 วัดป่าแพะน้อย อยู่ห่างจากวัดวิถีบรรพต ไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร
 วัดสะเลียม อยู่ห่างจากวัดสะเลียมใหม่ (ตำบลยาบหัวนา) 800 เมตร
 วัดหินล้อม อยู่ห่างจากวัดสะเลียมใหม่ (ตำบลยาบหัวนา) 2 กิโลเมตร

เวียงป้อ เป็นเมืองที่อยู่ใกล้นครน่าน ผลกระทบและอิทธิพลด้านต่างๆ มักได้รับพร้อมกันกับนครน่าน และเนื่องจากการเดินทางติดต่อ
โดยทางบกใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-8 ชั่วโมง ถ้าหากขี่ม้าเร็วก็จะประมาณ 2-3 ชั่วโมง การเดินทางติดต่อทางน้ำใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง
ที่ตั้งของเวียงป้อ มีภูมิประเทศล้อมรอบไปด้วยภูเขา ซึ่นคนพื้นบ้านเรียกว่า “ดอย” มีดอยต่างๆ รอบเวียงป้อ ดังนี้
 ดอยนางนอน เป็นดอยทอดยาวจากทางทิศตะวันตกลงไปทางทิศใต้ลักษณะคล้ายหญิงสาวนอน
 ดอยผาง่าม เป็นเทือกดอยทอดยาวจากทิศใต้ไปทางทิศตะวันออก ยอดสูงสุดมีลักษณะคล้ายสองง่าม
 ดอยภูคำ เป็นเทือกดอยทอดยาวมาจากทิศตะวันออกขึ้นไปทางทิศเหนือ ลักษณะสูงกว่าดอยลูกอื่นๆ
 ดอยพระบาตรหรือดอยข้าวบาตร เป็นดอยที่อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของบ้านใหม่ดินแดง ดอยลูกนี้ใช้เป็นที่พักอาศัยเมื่อมีอุทกภัยครั้งใหญ่หลายครั้ง
 ดอยภูเพียงหรือดอยภูเปียง เป็นดอยเชื่อมต่อกับดอยพระบาตร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านภูเพียง
 ดอยเขาแก้ว ตั้งอยู่ทางทิศเหนือในเขตพื้นที่ตำบลน้ำปั้ว

ตามที่เมืองป้อตั้งอยู่ที่ราบระหว่างดอยต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ยังทำให้เกิดลำน้ำหลายสายไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ได้แก่ ลำน้ำแม่สาคร ลำน้ำว้า ลำน้ำสา ลำน้ำแหง ลำน้ำมวบ ลำน้ำสาลี่ ตลอดถึงสายน้ำน่าน และสายน้ำว้าเดิมที่เปลี่ยนเส้นทางเดินกลายสภาพเป็นหนองน้ำซึ่งมีอยู่มากมาย ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำครก” และสายธารอื่นๆ อีกมากมายที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน จึงทำให้เมืองป้อเมืองเล็กๆ แห่งนี้อุดมสมบูรณ์

เมืองป้อ เคยเป็นหัวเมืองประเทศราช ขึ้นกับเมืองน่าน พงศาวดารน่านได้บันทึกไว้กล่าวถึงเมืองป้อ ดังนี้
1. สมัยพระยาหน่อเสถียรไชยสงครามปกครองนครน่าน เจ้าผู้ครองนครน่าน ลำดับที่ 35 ได้ทราบตำนานวัดพระธาตุแช่แห้ง
จึงได้เชิญให้เจ้าเมืองป้อไปเป็นหัวหน้าช่างไม้บูรณะวัดพระธาตุแช่แห้ง ราว พ.ศ.2123-2127 นับเป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเวียงป้อเป็นที่ขึ้นตรงต่อน่าน
2. ใน พ.ศ. 2139 พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 36 ก็ได้เสด็จเมืองป้อและได้สร้างวัดดอนแท่นไว้เป็นอนุสรณ์
3. เมื่อ พ.ศ.2243-2251 เมืองน่านและเมืองประเทศราชถูกพม่าเผา ทำลาย เสียหายทั้งเมือง ตลอดถึงวัดวาอาราม ผู้คนถูกฆ่าจำนวนมาก
ชาวบ้านแตกตื่นหนีภัยสงครามเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่า ในถ้ำ ทิ้งเมืองร้าง เมืองป้อก็ได้รับผลของสงคราม
เช่น หลักฐานมีวัดร้างซึ่งสร้างบนที่ดอนหลายแห่งถูกทอดทิ้ง ไม่มีเหตุผลใดนอกจากชาวบ้านทิ้งบ้านเรือนหนีเข้าไปอยู่ในป่า
4. เมื่อ พ.ศ. 2247-2251 เมื่อเหตุการณ์ทางพม่าสงบลง ก็มีกองทัพแกว(เวียดนาม) และกองทัพลาวบุกเข้ามากวาดต้อนผู้คนเมืองน่าน และเมืองป้อ อีกครั้งหนึ่งด้วย
5. ผลกระทบของเมืองป้อได้รับจากฝ่ายพม่าอีกครั้งหนึ่งก็คือ พ.ศ. 2322 เมืองน่านขาดผู้ครองนคร กองทัพพม่าเข้ามากวาดต้อนผู้คนไปไว้ในเมืองเชียงแสน ทิ้งเมืองให้เป็นเมืองร้าง จึงเป็นยุคที่เสื่อมโทรมอย่างยิ่ง

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าเวียงป้อเป็นเมืองร้างนานถึง 15 ปี อำเภอเวียงสาขณะที่ยังไม่ได้สร้างเป็นเมืองหรือเวียงนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นเมืองหรือเวียง
โดยเจ้าผู้ครองนครน่านชื่อ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ คือหลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้เพียง 15 ปี

สนง. เทศบาล ต.เวียงสา อดีตที่ว่าการ อ.สา ซึ่งในหลวงและพระราชินีเคยเสด็จมาประทับ

เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ได้กำหนดหลักเมืองป้อ ไว้ที่วัดศรีกลางเวียง
นับเป็นสิริมงคลของบ้านเมืองเวียงป้อ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2338 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ก็ได้สร้า้งปราสาทหอธรรม และพระพุทธรูป 1 องค์ไว้ที่วัดศรีกลางเวียง ส่วนหลักเมืองนั้น สันนิษฐานว่าคงจะเป็นองค์พระเจดีย์ที่อยู่ลานทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวิหารวัดศรีกลางเวียง ปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่หลังโบสถ์ ในสมัยพระเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านสมัยนั้น ตรงกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครองกรุงรัตนโกสินทร์ ์นับเป็นเจ้าเมืองน่านที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อคนเมืองป้อเป็นอย่างยิ่ง โดยได้บูรณะเมืองป้อ ดังนี้
1. สร้างฝายน้ำสาขึ้นที่บ้านวังแข หมู่ที่ 3 ตำบลปงสนุก สร้างด้วยไม้ เรียกว่า ฝายไม้หัวล่อง
2. ท่านทรงเดินทางไปเมืองเชียงแสน รับเอาผู้คนชาวเมืองน่านที่ถูกพม่ากวาดต้อนไป กลับมาสู่เมืองน่าน
3. สร้างเวียงป้อขึ้นมาใหม่ หลังจากถูกทิ้งร้างไม่มีผู้คนอาศัยเป็นเวลาหลายสิบปี นับว่าท่านเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเป็นผู้มีพระคุณอันใหญ่หลวง
แก่ชาวเมืองป้อเป็นอันมาก
4. การสร้างเมืองในสมัยนั้น ใช้ไม้แก่นฝังเป็นหลักสี่มุมเมือง ซึ่งเจ้าอัตถวรปัญโญได้กำหนดเมืองมีขนาดกว้างพันวาสี่แจ่ง (สี่มุม)
โดยยึดเอาวัดศรีกลางเวียงเป็นศูนย์กลาง คือ
        ทิศตะวันออก ถือเอาวัดพระบาท ถึง วัดศรีกลางเวียง 500 วา
        ทิศตะวันตก ถือเอาวัดมิ่งเมือง ถึง วัดศรีกลางเวียง 500 วา
        ทิศเหนือ ถือเอาวัดกลางเวียงไปเป็นระยะ 500 วา สร้างอะมอก (ป้อมปืนใหญ่) เหนือ
        ทิศใต้ นับจากวัดศรีกลางเวียงไปเป็นระยะ 500 วา สร้างอะมอกได้
5. ทำเลที่ตั้ง ทิศเหนือ อาศัยลำน้ำสาเป็นคูเมืองไปในตัว ทิศตะวันตกตลอดแนวถึงทิศใต้ ขุดลำเหมือง (คลองส่งน้ำ) เป็นคูเมือง (ปัจจุบันนี้ยังมีปรากฎอยู่) ส่่วนทางทิศตะวันออกอาศัยแม่น้ำน่านเป็นคูเมืองไปในตัวกำแพงเมือง ปรากฎมีซากบริเวณทุ่งนาศรีนวล (ดังแผนที่)

เวียงป้อ(เวียงสา) เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองน่าน ในการติดต่อเมืองแพร่ก็ผ่านเวียงป้อ ติดต่ออุตรดิตถ์ก็ผ่านเวียงป้อได้ทั้งทางบกและทางน้ำ
ยามใดมีข้าศึกมาทางเมืองแพร่ แม่ทัพเวียงป้อก็ออกต่อสู้อย่างกล้าหาญ เป็นที่เล่ากันว่า เมื่อเวียงป้อ
ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นเวียงสาตามชื่อของลำน้ำสา มีข้าศึกมารบ เจ้าเวียงสาออกสู้รบกับข้าศึกศัตรู ท่านถูกลูกอะมอกกลิ้งไปสามไ่ร่นา
ไ่ม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด กลับลุกขึ้นต่อสู้ข้าศึกจนกระทั่งตัวของท่านเป็นสีแดงด้วยเลือด
ข้าศึกพ่ายแพ้หนีไปสิ้น เมื่อเสร็จศึกก็ไม่สามารถแกะดาบออกจากมือของท่านได้ จำเป็นต้องต้มน้ำอุ่นล้างเลือดข้าศึกแล้วแกะดาบออกจากมือ
เจ้าเมืององค์นั้นคือ “เจ้าน้อยจันต๊ะวงสา” ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า “เจ้ามหาเทพวงษารัฐ”
เมื่อ พ.ศ. 2427 ซึ่งเป็นต้นตระกูล “วงษารัฐ” นับแต่นั้นมา แต่ชาวเวียงสามักเรียกติดปากทั่วไปว่า “เจ้าหลวงเวียงสา”

จนกระทั่ง พ.ศ. 2440 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเวียงป้อไปขึ้นกับแขวงบริเวณน่านใต้ ต่อมาถูกตั้งเป็น “กิ่งอำเภอเวียงสา” แล้วได้รับการยกฐานะเป็น “อำเภอบุญยืน” ในปี พ.ศ.2461

ปี พ.ศ.2482 เปลี่ยนชื่อจากอำเภอบุญยืน อำเภอสา ก่อนเปลี่ยนเป็น อำเภอเวียงสา ในปี พ.ศ. 2526 ซึ่ง 2 ชื่อหลัง ตั้งตาม “ลำน้ำสา”
ลำน้ำสำคัญของอำเภอที่มีต้นสาขึ้นอยู่เต็ม

อ.เวียงสา เป็นดังประตูสู่เมืองน่าน เพราะถ้าจะเดินทางสู่น่านไปตามถนนสายหลักนั้น ต้องผ่าน อ.เวียงสาก่อน ซึ่งในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2501
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรภาคเหนือ จากแพร่สู่ที่ว่าการอำเภอสา(ชื่อในขณะนั้น) ด้วยพระราชพาหนะรถจิ๊ป และโปรดเกล้าให้พสกนิกรเข้าเฝ้าฯ ณ หน้ามุขชั้น 2 ของที่ว่าการอำเภอสา จากนั้นจึงเสด็จฯ ต่อไปยังศาลากลางจังหวัดน่านในขณะนั้น (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน)

การเสด็จฯครั้งนั้นของ 2 พระองค์ นำความปลาบปลื้มปีติของชาวอำเภอเวียงสามาจนถึงทุกวันนี้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลทั่วไป
 : อำเภอเวียงสา

คำขวัญ “ประตูสู่น่าน ตำนานชนตองเหลือง เมืองเจ็ดสายน้ำ งามล้ำวัดบุญยืน เริงรื่นแข่งเรือออกพรรษา บูชาพระธาตุจอมแจ้ง”

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดน่าน ก่อนถึงตัวอำเภอเมืองน่านห่างจากตัวจังหวัดน่านเป็นระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101
(แพร่-ต่อเขตเทศบาลเมืองน่าน) อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร เป็นระยะทาง 643 กิโลเมตร

อาณาเขต อำเภอเวียงสามีอาณา เขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
 ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบ้านหลวง อำเภอเมืองน่าน อำเภอภูเพียง และอำเภอแม่จริม
• ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
• ทิศใต้ ติดต่อกับอำภอนาน้อย
• ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอร้องกวาง และอำเภอสอง จังหวัดแพร่

แหล่งท่องเที่ยวในอำเภอเวียงสา

 วัดบุญยืนพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน วัดบุญยืนเป็นพระอารามหลวง มีพระพุทธรูปยืนปาง เป็นพระประทานในพระอุโบสถ ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าให้เป็นพระอารามหลวง มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม

วัดบุญยืน อ.เวียงสา จ.น่าน

 วัดศรีกลางเวียง เป็นวัดเก่าแก่ คู่อำเภอเวียงสามายาวนาน มีความงดงามทางด้านศิลป ปูนปั้นประดับกระจกสี ที่วิจิตรสวยงาม

วัดศรีกลางเวียง อ.เวียงสา จ.น่าน


 สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติฯ ม. 3 ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสา เป็นสถานที่พักผ่อน เล่นกีฬา ออกกำลังกาย 

สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ อ.เวียงสา จ.น่าน


 หอชมวิวเทศบาลตำบลเวียงสา ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่าน โดยจากจุดสูงสุดของหอชมวิว สามารถมองเห็นทัศนียภาพภายในเขตเทศบาลตำบลเวียงสาได้ 

หอชมวิวเทศบาลตำบลเวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน


ใส่ความเห็น